โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีการสงสัยว่าเรามีการแพ้อาหารหรือไม่ วิธีการทดสอบในปัจจุบันคือการนำสารอาหารนั้นมาทาบนผิวแล้วดูอาการว่ามีปฎิกิริยาต่ออาหารนั้นหรือไม่ แต่งานวิจัใหม่ทำให้เราสามารถใช้ “ห้องแลปบนชิป” (Lab on a chip) เพื่อทดสอบความแพ้ต่ออาหารได้แล้ว

เทคนิคนี้อาศัยความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างการแพ้และปริมาณสาร cytokine ในกระแสเลือด ที่โดยปรกติแล้วจะเป็นการยากที่จะวัดประมาณ cytokine ให้แม่นยำ แต่ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ Christopher Love จาก MIT ก็ได้อาศัยการแยกเม็ดเลือดขาวออกมาให้เจอกับสารที่สงสัยว่าจะแพ้ เช่น นม, ถั่ว, ฯลฯ หลังจากนั้นจึงนำเม็ดเลือดขาวเหล่านั้นไปวางในแผ่นแก้วที่มีหลุมจำนวนมาก และแต่ละหลุมจะใส่เซลล์ได้เพียงเซลล์เดียว หลังากนั้นจึงทิ้งไว้เพื่อวัดประเภทของ cytokine ที่ปล่อยออกมาว่ามีประเภทใดบ้าง และแต่ละประเภทมีปริมาณมากน้อยเพียงใด การจำแนกได้ว่าเซลล์ใดปล่อยสารประเภทใด และมีกี่เซลล์ที่ปล่อยสารแบบเดียวกันทำให้ความสามารถในการแจกแจงว่าเจ้าของเลือดมีอาการแพ้ต่ออาหารนั้นหรือไม่ทำได้แม่นยำขึ้น

กระบวนการ “ขุดหลุม” ขนาดเล็กๆ จำนวนมหาศาลเหล่านี้เรียกว่ากระบวนการ Microengraving และการนับจำนวนเพื่อการวิเคราะห์ผลเช่นนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เทคโนโลยีนี้อาจจะทำให้การแพทย์ในอนาคตก้าวหน้าขึ้นกว่าทุกวันนี้ได้อีกมาก

ที่มา – ArsTechnica, Lab on a chip (Abstract)

Citation